Parts Of Speech คืออะไร? เข้าใจหลักการใช้ Parts Of Speech อย่างละเอียด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ถ้าผมบอกว่าผมมีเคล็ดลับพิชิต Grammar ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย ทุกคนจะยอมไหมใช้เวลากับมันสักนิดไหมครับ

ความลับที่ว่านี้คือเรื่องของ Parts Of Speech ครับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญของภาษาอังกฤษเลยก็ว่าได้ เพราะแค่รู้ Parts Of Speech ก็ทำให้การเรียนไวยากรณ์ง่ายขึ้นแบบสุดๆ

วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับ Parts Of Speech ว่า

  • Parts Of Speech คืออะไร สำคัญอย่างไร
  • Parts Of Speech มีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องเรียน
  • ตัวอย่างการนำ Parts Of Speech ไปใช้

ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยครับ

Parts Of Speech คืออะไร 

Parts Of Speech คือ ประเภทของคำในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำแต่ละประเภทก็ทำหน้าที่ภายในประโยคแตกต่างกันไป

เวลาเราสร้างประโยค ไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ จะต้องเอาคำหลายๆ คำ มาเรียงต่อกัน ถึงจะเกิดเป็นประโยคใช่ไหมครับ แต่ก็ใช่ว่าเราจะเอาคำอะไรมาเรียงกันก็ได้นะ เช่น

Learn I English
เรียนฉันภาษาอังกฤษ

ไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะไทยหรืออังกฤษ (แน่นอนว่าเราพอเดาความหมายได้) และนั่นเองทำให้ภาษาอังกฤษต้องมี Parts Of Speech เพื่อแบ่งชนิดของคำต่างๆ และการทำงานของคำชนิดนั้นๆ ว่าทำงานร่วมกันยังไงครับ

ลองจินตนาการว่าคำเหล่านี้เป็นเหมือนคนในทีม หรือ เพื่อนๆ ในงานกลุ่ม ที่แต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ก็มีความเชื่อมโยงและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือในบางประโยคก็อาจจะมีบางคำที่ทำหน้าที่มากกว่าก็มีเหมือนกัน

แม้ว่าตอนนี้เราจะไปยังไม่รู้ว่ามากนักว่า Parts Of Speech แต่ละตัวเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นคำถามสำคัญที่สุดเลยคือ เราเรียน Parts Of Speech ไปทำไม?

ทำไมถึงต้องเรียน Parts Of Speech

Parts Of Speech เป็นพื้นฐานสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษ การเข้าใจประเภทและหน้าที่ของคำในประโยคจะช่วยให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดสื่อสารไปจนถึงการเขียน essay ภาษาอังกฤษ ที่สามารถแสดงความต่อเนื่องของเนื้อหาและความเชื่อมโยงเนื้อหาในภาพใหญ่ได้นั่นเองครับ

ถ้าเปรียบเทียบกับตึกละก็ ตึกที่มีรากฐานที่ดีจะแข็งแรง ไม่ทรุดไม่พัง ไม่ซ่อมบ่อย ภาษาอังกฤษก็เหมือนกันครับ การมีพื้นฐานที่ดีจะช่วยให้เราแข็งแรง เจออะไรก็คล่องแคล่ว ต่อยอดไว และที่สำคัญที่สุดเลย ผมคิดว่าการเรียน Parts Of Speech จะช่วยให้เราเข้าใจไวยากรณ์มากขึ้นแบบทวีคูณเลยครับ

Parts Of Speech มีอะไรบ้าง

  • Noun (คำนาม)
  • Verb (คำกริยา)
  • Pronoun (คำสรรพนาม)
  • Adjective (คำคุณศัพท์)
  • Adverb (คำกริยาวิเศษณ์)
  • Preposition (คำบุพบท)
  • Conjunction (คำสันธาน)
  • Interjection (คำอุทาน)
  • Determiner (คำนำหน้านาม)

หลากหลายที่จะชอบสอนว่า Parts Of Speech มีทั้งหมด 8 ตัว แต่ส่วนตัวผมคิดว่ามี 9 ตัวครับ โดยเพิ่มคำนำหน้านาม หรือ Determiner เข้ามา เพราะ การใช้ a/an/the ไปจนถึง that those his her เป็นอะไรที่สำคัญและเป็นหัวข้อที่ไม่ได้มีในภาษาไทย ดังนั้น Parts Of Speech 9 ชนิด จึงเหมาะกับการสอนคนไทยมากกว่าครับ

ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างประโยคว่าเราจะหา Parts Of Speech ยังไง ก่อนที่จะไปดู Parts Of Speech แต่ละตัวครับ

Jasper ran to the school quickly.

ถ้าเราแกะออกมาในรูป Parts Of Speech จะหน้าตาประมาณนี้ครับ

Noun Verb Preposition Determiner Noun Adverb
Jasper ran to the school quickly

จะเห็นเลยว่าท้ายที่สุดประโยคหนึ่งประโยคนั้นประกอบด้วยคำแต่ละประเภท (Parts Of Speech) มาเรียงต่อกันเท่านั้นเอง แต่แน่นอนว่า Parts Of Speech แต่ละอันมีหน้าที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งของมันในประโยค  ซึ่งมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น เรามาดูกันเลยครับ

1. Noun (คำนาม)

Noun คือ คำที่ใช้เรียกสัตว์ สิ่งของ สถานที่ อารมณ์ ความคิด ไปจนถึงชื่อคน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าคำนามมีทั้งรูปแบบที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไปจนถึงนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้

คุณสมบัติของ Noun คือ สามารถใช้เป็นประธานและกรรมได้ รวมถึงมีความเป็นเอกพจน์และพหูพจน์ด้วย แปลว่าถ้ามีสิ่งของมากกว่า 1 อันเราจะต้องเติม s/es นั่นเอง

นอกจากนี้คุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างคือ เราสามารถขยาย/ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนามนั้นได้ ผ่านการใช้สิ่งที่เราเรียกว่า Adjective ตัวอย่างคือ

The big red book

จะเห็นได้ว่าคำนามคือหนังสือ หรือ book ใช่ไหมครับ แต่ก็ไม่ได้เป็นคำหนึ่งคำ  ซึ่งเป็นประโยคที่เกิดจาก Parts Of Speech ตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ในที่นี้คือ Adjective กับ Determiner) มารวมกันทำหน้าที่เป็นคำนามนั่นเอง

เราจะเรียกประโยคนี้ว่า Noun Phrase และทั้งหมดนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากๆ ของ Noun ที่เราควรเข้าใจไว้ครับ

2. Determiner (คำนำหน้านาม)

Determiner คือ คำนำหน้านาม ทุกครั้งที่เราใส่คำนามลงไปในประโยคภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น

  • article (a/an/the) 
  • that these those my his her which
  • A few, a little, many much

คำเหล่านี้คือ Determiner ทั้งสิ้นครับ และการใช้ Determiner จะต้องดูประเภทของคำนามว่าเป็นประเภทไหน เช่น A cat walks กับ Cats walk 

ต่างกันเลยใช่ไหมครับ เรื่องคำนำหน้านามเกี่ยวข้องทั้งกับคำนามและคำกริยาภาษาอังกฤษ รวมถึงเรื่อง Subject-verb Agreement ที่ว่าถ้าคำนามเป็นเอกพจน์ต้องเติม s/es เป็นต้น ดังนั้นเราต้องเข้าใจเรื่อง Determiner อย่างดีเลยครับ

3. Pronoun (คำสรรพนาม)

Pronoun คือ คำที่ใช้เพื่อเรียกแทนคำนาม ไม่ว่าจะเป็น ชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงคำนามเดิมซ้ำๆ ซึ่งในภาษาไทยมันคือ คำสรรพนาม นั่นเองครับ Pronoun นั้นทำหน้าที่เหมือนคำนามคือเป็นประธาน (Subject) และกรรม (Object) ของประโยค รวมถึงกรรมของ Preposition ได้ด้วยครับ

ตัวอย่าง
Jasper loves learning English, so he spent most of his time studying it.

He เป็นคำสรรพนามแทนคำว่า Jasper และ it แทนคำว่า English เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวซ้ำๆ นั่นเองครับ ซึ่งการเข้าใจเรื่อง Pronoun จะมีประโยชน์มากๆ กับการเขียนและสอบ Reading ที่จะใช้คำสรรพนามเพื่อหลีกเลี่ยงการพูด Topic เดิมซ้ำๆ แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่อง Pronoun ละก็ เราจะพอเข้าใจว่าคำสรรพนามที่ใช้นั้นหมายถึงสิ่งไหนในบทความ ทำให้เราไม่งงเวลาอ่านนั่นเองครับ

4. Verb (คำกริยา)

Verb คือ คำที่บอกอาการ การกระทำ หรือ ความเป็นอยู่ ของประธาน ซึ่งคุณสมบัติของ Verb ก็คือสามารถเปลี่ยนรูปได้ เช่น Walk, walks, walked, walking ครับ แต่เงื่อนไขของการเปลี่ยนรูปจะขึ้นอยู่กับ 3 สิ่ง คือ คำนามที่ทำหน้าที่เป็นประธาน, Tense, และโครงสร้างประโยคครับ เช่น

Jasper studies English everyday.

จะเห็นได้ว่า ประธาน Jasper เป็นคำนามชื่อคนที่เป็นเอกพจน์ และมีคำบอกเวลา everyday ที่บอกเราว่านี่คือ Present Simple Tense นะ ดังนั้นคำกริยา study จึงเป็น studies (study ตัด i และเติม es) นั่นเอง

ถ้าเราศึกษาเรื่อง Verb ดีๆ เราจะทราบว่า Verb มีหลากหลายประเภท แต่สิ่งที่สำคัญที่เราต้องรู้คือ Main verb ครับ

Main Verb เป็นกริยาหลักของประโยคใช้แสดงอาการ การกระทำหรือบอกสภาพของประธานในประโยค  ถ้าขาด Main verb ไป ประโยคก็จะไม่สมบูรณ์นั่นเองครับ 

การเข้าใจเรื่อง Verb ผมว่าสำคัญแทบจะที่สุดใน Parts Of Speech เลยครับ เพราะคำกริยาภาษาอังกฤษค่อนข้างผูกกับหลายเรื่อง และมีประโยชน์กับหลากหลายสถานการณ์ครับ เช่น การอ่าน 

ถ้าเราอ่านบทความไม่เข้าใจให้เราหา Parts Of Speech ภายในประโยคครับ โดยพยายามหาประธานและ Main Verb ของประโยค (โดยปกติ Main Verb มักจะอยู่ใกล้กับประธานมากที่สุด) ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหามากขึ้นแบบสุดๆ ครับ

5. Adjective (คำคุณศัพท์)

Adjective คือ คำที่ใช้อธิบายลักษะของคำนามหรือคำสรรพนามให้มีความชัดเจนและเจาะจงมากขึ้น 

วิธีการใช้ Adjective มีหลากหลายครับ ตั้งแต่การเป็นส่วนขยายประธานผ่านการวางหน้า Verb to be (is/am/are) เช่น You are gorgeous. ไปจนถึงวางไว้ก่อนหน้าคำนามอย่างตัวอย่าง I love red roses.

แต่ความยากของ Adjective ในภาษาอังกฤษ คือ เมื่อประโยคสามารถเป็น Adjective ได้ ลองดูตัวอย่างนี้ที่ผมเอามาจากตัวอย่างข้อสอบ IELTS ครับ

Following Henri Becquerel’s discovery in 1896 of a new phenomenon, which Marie later called ‘radioactivity’, Marie Curie decided to find out if the radioactivity discovered in uranium was to be found in other elements.

คำที่ขีดเส้นใต้และทำตัวหนาคือ Adjective clause ครับ ซึ่งเป็นประโยคที่ทำหน้าที่เป็น Adjective ขยายคำนาม new phenomenon นั่นเอง

เวลาเรานึกถึง Adjective เรามักจะนึกถึง “คำ” ตลอด แต่ไม่เคยนึกถึง “ประโยค” ในลักษณะนี้ เพราะในภาษาไทยเองไม่มีแบบนี้นั่นเองครับ และนั่นทำให้ความรู้เกี่ยวกับคำคุณศัพท์ภาษาอังกฤษมีประโยชน์มากๆ สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษครับ

6. Adverb (คำกริยาวิเศษณ์)

Adverb คือคำที่สามารถขยายคำกริยา คำคุณศัพท์ ไปจนถึงคำกริยาวิเศษณ์ด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งขยายทั้งประโยคเพื่อให้ได้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น

ซึ่งความยากเหมือนกับคำคุณศัพท์เลย นั่นก็คือเรื่องของประโยคครับ เวลาเรานึกถึง Adverb เรามักจะนึกถึงคำ เช่น Beautiful, Red, Big แต่จริงๆ แล้วยังมีสิ่งที่เรียกว่า Adverbial Clause หรือประโยคที่ทำหน้าที่เป็น Adverb ครับ เราลองมาดูตัวอย่างที่แล้วกัน

Following Henri Becquerel’s discovery in 1896 of a new phenomenon, which Marie later called ‘radioactivity’, Marie Curie decided to find out if the radioactivity discovered in uranium was to be found in other elements.

ทั้งประโยคที่ทำตัวหน้าและขีดเส้นใต้คือ Adverbial clause ครับ ซึ่งทำหน้าที่ขยายคำกริยา “decided” (บางตำราอาจบอกว่าขยายทั้งประโยค) เพื่อบอกข้อมูลช่วงเวลาที่ Marie ตัดสินใจศึกษาต่อเกี่ยวกับ Radioactivity นั่นเอง

ยากใช่ไหมครับ แต่ก็มีประโยชน์มากๆ ถ้าเราเข้าใจเรื่องของ Adverb มากขึ้น คุณสมบัติที่สำคัญของ Adverb ที่นอกเหนือจากการเป็นคำขยายคำกริยา ก็คือ “ประโยค” ที่ทำหน้าที่ขยายกริยานั่นเองครับ

7. Preposition (คำบุพบท)

Preposition คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำหรือวลีเข้ากับคำอื่นๆ หรือ วลีอื่นๆ ในประโยค เพื่อระบุเวลา สถานที่ ตำแหน่ง ทิศทาง วิธีการ หรือเหตุผล เพื่อให้ประโยคนั้นสมบูรณ์ ในภาษาไทย Preposition คือ คำบุพบทนั่นเอง

Preposition ที่เห็นบ่อยๆ เช่น in, on, at, above, between, from, above, with, by และอื่นๆ ซึ่งตำแหน่งการวาง Preposition มีอยู่ทั้งหมด 2 ที่ได้แก่ หลัง Verb และหลัง Adjective (ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนขยายประธาน อย่าง Complement)

Jasper studies with his friend.

This website is inspired by my teacher.

เมื่อ Preposition ถูกวางไว้ใกล้กับ Verb หรือ Adjective เช่น with his friend หรือ by my teacher เราจะเรียกวลีนี้ว่า Preposition phrase ครับ

8. Conjunction (คำสันธาน)

Conjunction คือ คำที่ใช้เชื่อมคำ วลี หรือประโยคเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประโยคมีความสละสลวย เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยในภาษาไทยจะเรียกว่าคำสันธานนั่นเอง

ตัวอย่าง Conjunction เช่น and, but, or เป็นต้นครับ เจ้า Conjunction มีประโยชน์มากๆ กับการเขียน essay และการสอบ IELTS ที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงของเนื้อหา และความสละสลวยของตัวประโยค เช่น

I love reading English Grammar books. I love memorizing vocabulary. I love practicing English writing.

สามารถเปลี่ยนให้สละสลวยด้วย Conjunction เป็น

I love reading English Grammar books, memorizing vocabulary, and practicing English writing.

สามารถเปลี่ยนให้สละสววยด้วย Conjunction เป็น

จะให้ได้ว่า Conjunction สามารถเชื่อมสามารถสามประโยคเข้าเป็นประโยคเดียว และทำให้ประโยคมีความสละสลวยมากขึ้นครับ 

9. Interjection (คำอุทาน)

Interjection  คือ คำ กลุ่มคำ หรือประโยคที่ใช้เพื่อแสดงความรู้สึก ซึ่งในภาษาไทยคือ คำอุทานนั่นเองครับ

เราสามารถใช้ Interjection ในการทักทาย การตอบรับ อีกทั้งยังสามารถใช้ในการอวยพรได้อีกด้วย เช่น Hi, Hey, Congratulation, Yes, No, Okay!

Parts Of Speech ตัวอย่างประโยค และการหา Parts Of Speech

Yes, Somsak and his gorgeous girlfriend, Somsri, eagerly study Grammar to pass the next exam.

Interjection Noun Conjunction Pronoun Adjective Noun Noun Adverb Verb Noun Preposition Verb Determiner Adjective Noun
Yes, Somsak and his gorgeous girlfriend, Somsri, eagerly study Grammar to pass the next exam.

จะเห็นได้ว่าเจ้าประโยคยาวๆ นี้ จริงๆ แล้วก็เกิดจากคำหลายๆ มาทำหน้าที่ Parts Of Speech ของมันภายในประโยคครับ และถ้าเราต้องการรู้เนื้อความของประโยคนี้จริงๆ เราก็แค่หาประธานที่เป็นคำนามกับกริยาหลัก ก็จะเห็นว่ามีแค่ Somsak and Somsri study เท่านั้นเองครับ และถ้าอยากรู้ก็แค่อ่านเพิ่มเท่านั้น อาจจะเป็น Somsak and Somsri study Grammar เป็นต้น

แต่เราก็จะเห็นว่าคำบางคำ แม้จะเป็น Parts Of Speech เดียวกัน เช่น Noun (คำนาม) แต่เมื่ออยู่ตำแหน่งแตกต่างกันในประโยค ก็ทำหน้าที่แตกต่างกันเลยใช่ไหมครับ ถ้าเราสลับตำแหน่งของคำ ความหมายก็จะเปลี่ยนไปทันที เช่น Somsak and Grammar study Somsri

Noun Conjunction Noun Verb Noun
Somsak (Subject) and Grammar Study Somsri

แค่สลับตำแหน่ง แต่คำเหมือนกัน ความหมายเปลี่ยนทันทีเลยใช่ไหมครับ ดังนั้นแล้วนอกจากความรู้ Parts Of Speech แล้ว เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ Sentence ก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องนำมาใช้ควบคู่กันครับ

ตัวอย่างคำที่ทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 Parts Of Speech

Work, but, afternoon, light และอีกหลากหลายคำสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 Parts Of Speech ครับ

คำศัพท์ Parts Of Speech ตัวอย่าง
Work Noun My work is difficult.
Verb I work in Thailand.
But Conjunction John came to school, but Mary didn't come.
Preposition Everyone came but Mary.
Light Noun Please turn off thelight
Adjective The device is light and portable
Afternoon Noun We ate noodles in the afternoon.
Noun ที่ทำหน้าที่เป็น Adjective We had afternoon tea.

ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เราต้องเข้าใจ Parts Of Speech มากขึ้นครับ อย่างคำว่า Afternoon ถึงแม้เราจะไม่รู้ความหมายของมัน แต่เราเข้าใจเรื่อง Noun และ Adjective เราพอจะเดาออกว่า ถ้ามีคำก่อนหน้าคำนามแสดงว่ามันเป็น Adjective นั่นแปลว่า Afternoon น่าจะเป็น Adjective ขยายคำนาม Tea แปลว่า Afternoon นี้ไม่ใช่ช่วงเวลา แต่เป็นลักษณะของชานั่นเอง

Parts Of Speech มีประโยชน์อย่างไร นำมาใช้ยังไงได้บ้าง?

การเรียนรู้ Parts Of Speech นอกจากจะทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องมากขึ้นจากการรู้ชนิดของคำแล้ว เรายังสามารถนำความรู้ Parts Of Speech ไปใช้กับการสอบภาษาอังกฤษได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Reading Comprehension, Error identification ไปจนถึงการเขียน essay ครับ

1. Reading Comprehension

Parts Of Speech มีประโยชน์กับการสอบ Reading มากๆ ครับ เราลองมาดูตัวอย่างประโยคนี้กันครับ ผมเอามาจากข้อสอบที่หาได้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ GRE ครับ

Reviving the practice of using elements of popular music in classical composition, an approach that had been in hibernation in the United States during the 1960s, composer Philip Glass (born 1937) embraced the ethos of popular music in his compositions.

อ่านแล้วตึ้บเลยใช่ไหมครับว่าประโยคต้องการจะบอกอะไร แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่อง Parts Of Speech กับเรื่อง Sentence Structure สักนิดละก็ เราสามารถหา Parts Of Speech และเข้าใจเนื้อหาของบทความได้โดยไม่ต้องอ่านทั้งหมด ถ้าลองอ่านดูดีๆ เนื้อความจริงๆ จะมีแค่ตรงส่วนที่เป็นตัวเข้มและขีดเส้นใต้ครับ

Reviving the practice of using elements of popular music in classical composition, an approach that had been in hibernation in the United States during the 1960s, composer Philip Glass (born 1937) embraced the ethos of popular music in his compositions.

นั่นแหละครับใจความจริงๆ ก็คือ Philip Glass embraced the ethosof popular music ฟิลิปได้นำแนวคิดของเพลงที่ได้รับความนิยมมาใช้ และถ้าอยากรู้เพิ่มเติมเราค่อยอ่านต่อนั่นเอง ส่วนที่ยาวๆ ในช่วงแรก

Reviving the practice of using elements of popular music in classical composition, an approach that had been in hibernation in the United States during the 1960.

เราจะเรียกมันว่า Participial phrase ครับ ซึ่งทำหน้าที่เป็น adverb เพื่อขยายหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกริยา embraced นั่นเองครับ แปลว่าถ้าเราไม่อยากต้องการรู้เพิ่มเติมว่า Philip embraced อะไร เราก็ไม่ต้องอ่านนั่นเอง เห็นไหมครับว่า Parts Of Speech มีประโยชน์สุดๆ ! ถ้าเข้าใจ ใช้เป็น และหา Parts Of Speech จริงๆ เจอว่าอันไหนคือประธาน อันไหนคือกริยาหลัก ก็ทำข้อสอบ Reading ได้สบายๆ ครับ

2. Error identification

อย่างที่เรารู้กันว่าคำบางคำสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่า 1 Parts Of Speech และนั่นทำให้ข้อสอบพวก Error Identification ชอบเอามาออกบ่อยๆ นั่นเองครับ ลองมาดูกัน

I am interesting in learning new languages.

ดูแบบผิวเผินก็ไม่ได้ผิดอะไรใช่ไหมครับ แต่คำว่า Interesting ในที่นี้ผิดครับ เพราะ Interest สามารถเป็นได้ทั้ง Noun, Verb และสามารถแปลงเป็น Adjective เมื่อเติม suffix -ing เข้าไป กลายเป็น Interesting นั่นเองครับ

ดังนั้นคำว่า Interesting ในที่นี้ผิด เพราะว่า Adjective ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ได้ครับ แต่ต้องเป็น Verb ต่างหาก! และเมื่อประโยคขาดกริยาหลัก (Main Verb) ประโยคก็จะผิดหลักไวยากรณ์ด้วย ดังนั้นต้องแก้เป็น

I am interested in learning new languages.

3. Writing

การใช้ Parts Of Speech อย่างช่ำชองจะช่วยให้เราเขียนได้ดีขึ้นมากๆ ครับ ตั้งแต่การวางโครงสร้างการเขียน รูปประโยคที่มีความเชื่อมโยงกัน อ่านเข้าใจง่ายและชัดเจน ผ่านการใช้ Phrase และ Clause นั่นเองครับ ลองมาดูตัวอย่างกัน

During the process of acquiring proficiency in the English language, it is of utmost importance for learners to consistently engage in regular practice activities, such as reading authentic texts, listening to native speakers, speaking in various contexts, and writing compositions to enhance their language skills.

อ่านไม่รู้เรื่องเลยใช่ไหมครับ เหมือนกับตัวอย่างแรกๆ ในข้อสอบ GRE ซึ่งถ้าเรานำมาปรับให้เหลือแต่เนื้อๆ จะเหลือแค่ด้านล่างเท่านั้นครับ

To become proficient in English, learners must consistently practice by reading, listening, speaking, and writing.

เราตัด Parts Of Speech ที่ไม่จำเป็นออกอย่างเช่น ประโยค “During the process of acquiring proficiency in the English language” ที่ทำหน้าที่เป็น Adverb (Adverbial Phrase) ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับการฝึกฝน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ และการตัด Parts Of Speech ที่ไม่จำเป็นออก เหลือแต่เนื้อหาที่จำเป็นนี่แหละครับที่ช่วยให้งานเขียนเราดีขึ้นแบบชัดเจนเลย

สรุป Parts Of Speech

จบกันไปแล้วสำหรับ Parts Of Speech ครับ ทั้งหมดที่เราเรียนรู้ในบทความนี้สามารถสรุปเป็นตารางได้แบบนี้ครับ

Parts Of Speech หน้าที่ ตัวอย่างคำ ตัวอย่างประโยค
Noun ชื่อเรียก คน สัตว์สิ่งของ นามธรรมต่างๆ work, dog, work, friendship, town, London, teacher, John This is my cat. He studies Grammar. We live in Thailand.
Verb การกระทำ หรือ สภาวะ (to) be, have, do, like, work, sing, can, must Jasper is a website. I like Jasper.
Adjective อธิบายลักษณะ หรือ ขยายคำนาม good, big, red, well, interesting My cat is big.
Determiner ทำหน้าที่บอก a/an, the, 2, some, many I have two dogs and some rabbits.
Adverb ขยาย Verb, Adjective or Adverb quickly, silently, well, badly, very, really My dog eats quickly. When he is very hungry, he eats really quickly.
Pronoun แทน Noun I, you, he, she, some Tara is Indian. She is beautiful.
Preposition เชื่อมคำกับคำเข้าด้วยกัน to, at, after, on, but We went to school on Monday.
Conjunction เชื่อมคำ วลี และประโยคเข้าด้วยกัน and, but, when I like dogs and I like cats. I like cats and dogs. I like dogs but I don't like cats.
Interjection ใช้แสดงความรู้สึก oh!, ouch!, hi!, well Ouch! That hurts! Hi! How are you? Well, I don't know.

ผมตั้งใจทำบทความนี้ขึ้นมาให้ทุกคนเข้าใจ Parts Of Speech มากขึ้น และเข้าใจว่ามันถูกนำไปใช้แบบไหน

ถ้าใครยังไม่เข้าใจหัวข้อไหน สามารถอ่านเจาะลึกได้ในแต่ละหัวข้อครับ แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือสิ่งที่ต้องทำถัดไปครับ

ผมแนะนำว่าถ้าใครจริงจังกับการเรียนภาษาอังกฤษ ควรศึกษาเรื่อง phrase, clause และ sentence ต่อเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น หรือถ้าใครจริงจังแบบอยากซื้อหนังสือมาอ่าน ผมมีรีวิวหนังสือ Grammar ไว้หลายเล่ม สามารถอ่านดูได้ครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีกับการเรียนภาษาอังกฤษและหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ

อ่านต่อเลย ถ้าอยากเข้าใจ Grammar