เขียนกี่ทีก็ผิดไวยากรณ์ทุกที ไม่รู้สักทีว่า However มีหลักการใช้ยังไง
การใช้คำให้ถูกหลัก grammar เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ เพราะถ้าเราไม่รู้หลักการใช้คำให้ถูกต้อง essay ของเราก็จะถูกมองว่าไม่มีคุณภาพแม้ว่าเราจะทุ่มเทแรงกายและแรงใจไปกับมันมากแค่ไหนก็ตาม
แต่หลักการใช้ however ให้ถูกต้องนั้นไม่จำเป็นต้องยากขนาดนั้นครับ ระหว่างที่ผมฝึกเขียน essay ให้พร้อมสำหรับการทำคะแนน IELTS พาร์ท Writing ผมก็ได้เรียนรู้ว่าการเข้าใจพื้นฐานไวยากรณ์จะทำให้เราเข้าใจหลักการใช้คำได้ดีมากขึ้นครับ
วันนี้ Jasper & Reader จะมาตอบทุกคำถามที่ทุกคนสงสัยว่า จริงๆ แล้ว หลักการใช้ however มีอะไรบ้าง แล้ว however เป็นคำอะไร ต้องใช้ตอนไหน พร้อมกับตัวอย่างประโยคที่จะทำให้เข้าใจการใข้ however มากขึ้น ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันเลย!
However คืออะไรกันแน่? พื้นฐานสำคัญสู่การใช้ however อย่างมือโปร
สำหรับคนที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีอยู่แล้วสามารถข้ามได้เลยนะครับ แต่ผมแนะนำมากๆ ว่าลองอ่านดูก่อน เพราะเราจะสามารถเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของ grammar และหลักการใช้ however อย่างเป็นระบบมากขึ้นครับ
จริงๆ แล้ว However มีความหมายหลายอย่างมากๆ นั่นเป็นเพราะว่า However แปลว่า “แต่” “ยกเว้น” “อย่างไรก็ตาม” “อย่างไรก็ดี” โดยที่ However มักจะถูกเรียกว่าเป็น Conjunctive adverb ที่เป็นกริยาวิเศษณ์ที่ใช้เชื่อมประโยค ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ However ครับ
However แม้จะถูกเรียกว่าตัวเชื่อมประโยค แต่ในทางไวยกรณ์นั้น However ไม่ใช่ Conjuction หรือคำสันธานที่ใช้เชื่อมประโยคตามไวยกรณ์ภาษาอังกฤษครับ เราถึงได้เรียก However ว่า Conjunctive Adverb
เอ๊ะ แบบนี้ หมายความว่ายังไง?
เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า However ใช้ในการ “เชื่อมประโยค” ซึ่งเชื่อมประโยคตรงนี้นี่แหละครับที่ทำให้เราเข้าใจผิดกันบ่อยๆ ผมเองก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควรตอนเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองถึงได้มารู้ที่หลังว่า “การเชื่อมประโยค” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นั้นมี 2 ความหมายครับ
ความหมายแรกคือ การเชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน ซึ่งการเชื่อมแบบนี้เราต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าคำสันธาน หรือ Conjunction เพื่อเชื่อมสองประโยคเข้าด้วยกันให้กลายเป็นประโยคเดียวที่มีความหมายใหม่ครับ
ความหมายที่สองคือ การเชื่อม “ไอเดียของประโยค” เข้ากับอีกประโยคนึงด้วยสิ่งที่เรียกว่าคำเชื่อม หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Linking word หรือ Transition word ซึ่งการใข้ however จะเข้าข่ายหมวดนี้ครับ
การเชื่อมความโดยใช้ Transition word แบบนี้จะทำให้การเขียน essay ของเราไหลลื่นขึ้น เพราะคนอ่านสามารถเข้าใจความเชื่อมโยงของไอเดียระหว่างประโยคได้ แต่การเชื่อมประโยคแบบความหมายที่สองนั้นไม่ใช่การสร้างประโยคใหม่แต่อย่างใดตามหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษครับ
และสองความหมายตรงนี้นี่เองที่ทำให้การใช้ however เป็นเรื่องที่งงสุดๆ ไปเลยครับ
However มีไว้เชื่อม “ไอเดีย” ของ 2 ประโยค เพื่อสื่อประเด็นที่เราต้องการสื่อสารกับคนอ่าน ซึ่งแตกต่างจากการใช้ Conjuction เพื่อนำสองประโยคมารวมกันเป็นประโยคเดียวเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ครับ